สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ธุรกิจทุกประเภทย่อมมีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ธุรกิจประกันภัยไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิตหรือการประกันวินาศภัยก็เช่นกัน จะมีคนกลางเข้ามาช่วยจัดการให้มีการทำสัญญาขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย อาชีพนี้มีมาช้านานแล้ว แต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าทั่วไป หรือตัวแทนนายหน้า ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่และหลักปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันหรือจะเรียกว่าเหมือนกันก็ว่าได้ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2510 ได้มีพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยขึ้น ได้มีการแบ่งแยกระบุชัดเจนระหว่างตัวแทนกับนายหน้า ซึ่งอาจประกอบการโดยคนเดียว หรือรวมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ได้ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในสมัยนั้น มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต นำโดย นายเจนกิจ ตันสกุล ได้เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ในการรวมตัวกัน เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพนายหน้าประกันภัยให้เป็นกลุ่มทำงานที่มีประสิทธิภาพพร้อมทั้งการจัดการในการเอาประกันภัยอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าด้านเบี้ยประกันภัยหรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จึงได้มีการก่อตั้ง สมาคมนายหน้าประกัน (Insurance Brokers Association )ขึ้น เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2512
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้
1.เพื่อคุ้มครองส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจและสวัสดิภาพของนายหน้าประกันภัย และร่วมมือกับหน่วยราชการ บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ในอันที่จะช่วยให้กิจการประกันภัยมีคุณค่าต่อสังคมกว้างขวางยิ่งขึ้น
2.เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติ ศักดิ์ศรี และความสามัคคีในระหว่างมวลสมาชิก
3.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรค ข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งการเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
4.ทำการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบอาชีพนายหน้าประกันภัย ส่งเสริมคุณภาพของนายหน้าประกันภัยให้เข้ามาตรฐาน แลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ในทางวิชาการ การขยายงาน ตลอดจนข่าวสารอันเกี่ยวกับอาชีพนายหน้าประกันภัย
5.เพื่อให้ความช่วยเหลือและบริจาคในการกุศลต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย
6.เพื่อร่วมมือ ติดต่อ หรือเป็นสมาชิกกับสมาคมฯ อื่นทั่วโลก ที่ทำงานหรือมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับสมาคมนี้
วัตถุประสงค์ร่วมกันของมวลสมาชิกสมาคมนายหน้าประกันภัยซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อสังคม คือ
1.ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ รวมถึงความคุ้มครองที่เหมาะสมกับผู้เอาประกันภัย
2.ศึกษากรมธรรม์ และต่อรองเงื่อนไข พร้อมทั้งเบี้ยประกันภัยที่เป็นธรรมให้กับผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย
3.ดูแลเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้เอาประกันภัย
4.จัดหาแหล่งที่สามารถรับประกันภัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
5.ให้ความรู้และประสบการณ์กับสถาบันการศึกษาต่างๆ
6.การสร้างงานให้กับสังคม
7.ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอก ในการประกอบอาชีพนายหน้าประกันภัย
8.เพื่อส่งเสริมสุขภาพ พลานามัย การบันเทิง และการกีฬา แก่สมาชิกสมาคม
9.ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง